วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ฮีตสิบสอง ประเพณีไทย

พระ-เณร ขี่ม้าบิณฑบาต




พระ-เณร ขี่ม้าบิณฑบาต อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
 
สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทอง เป็นถิ่นกันดารอยู่ห่างไกล ชาวบ้านนิยมใช้ม้าแกลบในการบรรทุกต่างสัมภาระสิ่งของต่างๆ เจ้าอาวาสของสำนักซึ่งเคยเป็นทหารม้าเก่า จึงให้พระและเณรของสำนักนี้ใช้ม้าเป็นพาหนะในการออกบิณฑบาตไปยังหมู่บ้านสี่หมื่นไร่ ซึ่งมีระยะทางร่วม 5 กิโลเมตร ในวัดมีสวนธรรมซึ่งมีรูปปั้นแม่ไม้มวยไทยท่าทางต่างๆ ไว้เพื่อการศึกษา บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุอินยอง

สำนักปฏิบัติธรรมสงฆ์ถ้ำป่าอาชาทอง ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย มีครูบาเหนือชัย โฆษิโต หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาเสือโคร่ง เป็นผู้ดูแล เป็นสำนักปฏิบัติธรรมสงฆ์แห่งแรกที่สร้างโอกาสให้ชาวไทยภูเขาบนดอยสูง ห่างไกลตัวเมือง ได้เข้าถึงพระธรรมคำสอนขององค์พระพุทธเจ้า ลูกหลานชาวเขาจะเข้ารับการบวชเณรเพื่อศึกษาพระธรรมและเรียนหนังสือไทยควบคู่กันไป แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่รอบถ้ำป่าอาชาทองอยู่ติดแม่น้ำคำและอยู่ใกล้แนวชายแดนไทย-พม่า แวดล้อมด้วยภูเขาสูง การเดินทางด้วยรถยนต์จะทำได้ไม่สะดวก ดังนั้น ม้าจึงกลายเป็นพาหนะที่ถูกเลือกในการเดินทาง พระและสามเณรจะได้รับการฝึกการขี่และเลี้ยงม้า ซึ่งปัจจุบันมีม้าสายพันธุ์ต่างๆ กว่า 70 ตัว ในขณะที่ขี่ม้าบิณฑบาตตามหมู่บ้าน พระและสามเณรก็จะปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือทางการในการสำรวจพื้นที่ และสอดส่องปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดด้วย ทั้งนี้ด้วยแนวทางที่สอดคล้องกัน กองทัพภาคที่ 3 จึงเข้ามาร่วมดูแลภารกิจของพระเณรวัดถ้ำป่าอาชาทอง ทั้งในส่วนของการจัดออกเป็นวิทยากรถ่ายทอดศาสนาแก่ประชาชน การอบรมเทคนิคการขี่ม้าให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร ในการขี่ม้าเพื่อภารกิจหาข่าวและตรวจสอบความเคลื่อนไหวบริเวณชายแดนจุดต่างๆ 
 

ประเพณีตักบาตรดอกไม้




ประเพณีตักบาตรดอกไม้ อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
ตามพุทธตำนาน กล่าวว่า พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งเมืองราชคฤห์ จะได้รับดอกมะลิสด จากนายมาลาการทุกวัน ซึ่งนายมาลาการก็จะได้รับบำเหน็จรางวัลตอบแทน มาวันหนึ่ง นายมาลาการออกไปเก็บดอกมะลิพบเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์กำลังเสด็จออกบิณฑบาต นายมาลาการเห็น "ฉัพพรรณรังสี" ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดความศรัทธา เข้าไปถวายดอกมะลิ ก็เกิดอภินิหาร ดอกมะลิลอยวนและลอยเป็นแพอยู่ที่หัตถ์ซ้าย ขวาและแผ่นหลังของพระองค์ โดยหันหัวเข้าหาพระวรกาย พระเจ้าพิมพิสารราชาทรงทราบว่า พระศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตมาถึงใกล้ๆ พระราชวัง จึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมแล้วเสด็จตามพระศาสดาไปด้วยความเลื่อมใส พระเจ้าพิมพิสารบำเหน็จรางวัลความดีความชอบให้กับนายมาลาการ นับแต่นั้นมา นายมาลาการก็อยู่อย่างร่มเย็นปราศจากทุกข์ ด้วยอานิสงส์ของการนำดอกมะลิหว่านบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทนการตักบาตร ชาวพุทธทั่วไปจึงถือเป็น ประเพณี "ตักบาตรดอกไม้" เป็นประจำทุกปี

ชาวอำเภอพระพุทธบาทมีประเพณีตักบาตรดอกไม้สืบสอนกันมาหลายชั่วอายุ โดยกระทำในวันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า ผู้คนพากันไปวัดเพื่อทำบุญตักบาตรด้วยข้าวสุกแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัดพระพุทธบาทราชวรวิหาร เมื่อเสร็จก็จะไปเก็บดอกไม้เพื่อเตรียมเอาไว้ตักบาตรในตอนบ่ายของวันเดียวกัน

ดอกไม้ก็จะเลือกใช้เฉพาะที่มีในเดือน 8 ข้างขึ้นเท่านั้น และซึ่งมีดอกไม้ป่าชนิดหนึ่งที่นิยมกันมาก มักขึ้นตามท้องที่ป่าเขาที่มีความชุ่มชื้นค่อนข้างสูง มีเฉพาะในป่าเขาเขตจังหวัดสระบุรีเท่านั้น ดอกไม้นี้พบมาก ตามไหล่เขาโพธิลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เขาช้าง หรือเขาเซียน เทือกเขาวง เขาผุ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลขุนโขลน ตำบลพุกร่าง อำเภอพระพุทธบาท และตำบลพุแค อำเภอเมืองสระบุรี ชาวบ้านเรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" มี 2 ประเภท คือสกุลกระเจียว ดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู และสกุลหงษ์เหิร ก้านเกสรยาว กลีบดอกบาง มีหลายสีเช่น สีเหลือง เหลืองทองอมส้ม สีขาว มีลักษณะคล้ายกับ ต้นกระชายหรือขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบ ลำต้นขึ้นเป็นกอจากหัวหรือเหง้าใต้ดิน ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อส่วนยอดของลำต้นมีหลายสี เช่น ขาว เหลือง เหลืองแซมม่วง และบางต้นก็มีสีน้ำเงินม่วง มีดอกรองรับในช่อดอกดูเป็นช่อใหญ่สวยงาม โดยเฉพาะชนิดดอกเหลืองจะมี กลีบรองสีม่วงสะดุดตามาก จึงเรียกกันอีกว่า ดอกยูงทอง หรือ ดอกหงส์ทอง
เมื่อเก็บดอกไม้มาแล้วก็นำมามัดรวมกับธูปเทียน เสร็จแล้วชาวบ้านมาตั้งแถวรออยู่ริมถนนทั้ง 2 ข้าง เริ่มตั้งแต่วงเวียนถนนสายคู่ไปจนถึงประตูพระมณฑปพระพุทธบาท เมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคล มีขบวนนำหน้าพระภิกษุสงฆ์ เป็นขบวนแห่กลองยาว พร้อมด้วยนางรำรำหน้ากลองยาวอย่างสนุกสนานครึกครื้น ต่อจากขบวนกลองยาวจะเป็นพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนรถแห่ตามมา จากนั้นเป็นขบวนพระสงฆ์เดินมาเพื่อบิณฑบาตดอกไม้ พระสงฆ์รับดอกไม้ไปเรื่อยๆ ไปจนถึงประตูพระมณฑปพระพุทธบาทแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีของฆราวาส ส่วนพิธีการด้านพระภิกษุสงฆ์ ในเวลาค่ำ เมื่อรับบิณฑบาตดอกไม้แล้ว ก็นำเอาไปในมณฑปพระพุทธบาท เอาดอกไม้เครื่องสักการะวันทา "รอยพระพุทธบาท" และนำดอกไม้มาวันทาพระเจดีย์ "จุฬามณี" อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากนั้นนำไปสักการะ พระเจดีย์พระมหาธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งชาวพุทธถือกันว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูกซี่โครง ของพระพุทธเจ้า) จากนั้นพระภิกษุสงฆ์และสามเณรทั้งหมดก็จะเดินตรงไปเข้าอุโบสถสวดอธิษฐานเข้าพรรษา เปล่งวาจา อยู่ในอาณาเขตที่จำกัดในระหว่างฤดูกาลเข้าพรรษา ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์และสามเณรจะเข้าอุโบสถ บริเวณบันได ประชาชนนำน้ำสะอาดล้างเท้าแด่พระภิกษุสงฆ์ด้วยความเชื่อว่าเป็นการชำระล้างบาปของตนที่ได้กระทำให้หมดสิ้นไป แล้วย้อนกลับขึ้นไปยังพระมณฑปอีกครั้ง เป็นการปฐมเทศนาขอปฏิบัติตามทางธรรมของพระพุทธองค์ทุกประการ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ 
 

ประเพณีแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง




ประเพณีแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
 

งานแห่พระแข่งเรือของจังหวัดชุมพร ถือว่าเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน จัดการแข่งขันกันโดยทั่วไป แต่ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่นๆ คือ การแข่งขันเรือที่อำเภอหลังสวน ซึ่งไม่ถือเอาเส้นชัยเป็นเกณฑ์การตัดสิน แต่ตัดสินกันที่ธง นายหัวเรือลำใดสามารถคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัยได้ก่อน ลำนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ ดังนั้น นอกจากจะต้องอาศัยความพร้อมเพรียงของฝีพายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของนายท้ายเรือและนายหัวเรืออีกด้วย นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรง เพื่อให้นายหัวเรือขึ้นโขนเรือไปชิงธงที่ทุ่นเส้นชัยได้ นายหัวเรือจะต้องกะจังหวะขึ้นโขน ขึ้นไปให้สุดปลายโขน เพื่อความได้เปรียบในการจับธง และคว้าธงให้มั่น ไม่ตกน้ำ แต่ถ้าในกรณีที่นายหัวเรือคว้าธงได้พร้อม ๆ กัน และได้ธงไปลำละท่อนจะถือว่าเสมอกัน

งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน เป็นประเพณีเก่าแก่ของอำเภอหลังสวน ซึ่งมีมากว่า100 ปี จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) ของทุกปี ถือกันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาสู่เมืองสังกัสสะในชมพูทวีป พุทธศาสนิกชนจึงเดินทางไปรับเสด็จเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเดินทางที่สะดวกในสมัยนั้นคือทางน้ำ จึงมีโอกาสพบปะสังสรรค์ซึ่งกันและกัน พระเสด็จ ในอดีตชาวบ้านจะพายเรือลากพระจากวัดต่าง ๆ ตามลำน้ำหลังสวน มารวมกันสมโภชที่วัดด่านประชากร จัดให้มีการตักบาตร ทำบุญทอดกฐิน จากนั้นก็จะมีการแข่งเรือ ซึ่งมีเรือพายเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมาก ฝีพายแต่งกาย ด้วยเสื้อผ้าแพรวพรรณ หลากสีสวยงาม ร้องเพลงเรือเป็นที่สนุกสนาน ส่วนเรือแข่งขันกันจับคู่แข่งกัน ผู้ชนะก็ได้ผ้าสีไปคล้องหัวเรือเป็นรางวัล ลำไหนได้ผ้าสีมากก็เป็นลำที่ชนะ เมื่อเลิกพายแล้วก็จะนำผ้าแถบเหล่านั้นไปเย็บติดเป็นผ้าม่านถวายวัดต่อไป

การแข่งขันเรือพายได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ เรือมีความยาวมากขึ้นใช้ฝีพายมากขึ้น และในปี พ.ศ.2482 ได้มีการพายแข่งขันชิงขันน้ำพานรองของ พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยนั้น ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ต้องชนะเลิศติดต่อกัน 3 ปี จึงจะได้ขันน้ำพานรอง ใบนี้เป็นกรรมสิทธิ์ เรือต่าง ๆได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่หลายปีในที่สุดเรือแม่นางสร้อยทอง สังกัดวัดบรรพตวิสัย (วัดในเขา) ก็ได้ขันน้ำพานรองน้ำใบ นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ ปี พ.ศ. 2507 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชทานโล่รางวัลชนะเลิศ สำหรับการแข่งขันเรือยาวและการประกวดเรือประเภทสวยงาม และในปี พ.ศ. 2522 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลยอดทอง เป็นรางวัลแก่เรือยาวชนะเลิศประเภท ข
ปัจจุบันการแข่งเรือดังกล่าว มีระยะเวลาการจัดงานประมาณ 5 วัน บริเวณท่าน้ำหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลหลังสวน มีผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันกันมากมาย ทั้งที่มาจากจังหวัดใกล้เคียง และที่ห่างไกลออกไป เป็นประเพณีที่ชาวชุมพรภาคภูมิใจ หน่วยงานของรัฐ เอกชน และประชาชนโดยทั่วไปยังคงให้การสนับสนุน ร่วมแรงร่วมใจให้ประเพณีนี้คงอยู่สืบไป
    

งานบวชนาคช้าง




งานบวชนาคช้างเดือน 6 บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
ชุมชนชาวกูยเลี้ยงช้าง และหมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นทั้งในด้านภาษาพูดความเป็นอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ภูมิปัญญาชาวบ้าน ยึดถือการเคารพช้างว่าเท่ากับการเคารพศาลปะกำและการเคารพศาลปะกำก็เท่ากับเคารพบรรพบุรุษ คนและช้างเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวที่มีความผูกพันธ์กันอย่างแนบสนิทตามฐานะอายุของช้างและคน ถ้าช้างมีอายุมากก็เปรียบช้าง เสมือน พ่อ-แม่-ปู-ย่า-ตา-ยาย ถ้าช้างมีอายุน้อยก็เปรียบช้างเสมือนลูก-หลาน ตามธรรมเนียมชาวกูยเลี้ยงช้างจะไม่รับประทานเนื้อช้างโดยเด็ดขาด เพราะช้างคือสัตว์คู่บ้านคู่เมือง คู่พระพุทธศาสนา มีคุณค่าต่อชาวโลกด้านวัฒนธรรมประเพณีมาทุกยุคทุกสมัย

ในวันขึ้น 13, 14 และ 15 ค่ำเดือน 6 (ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม) ของทุกปี บุตรหลานชายอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ที่มีจิตศรัทธาจะเข้าบรรพชาอุปสมบทในวันดังกล่าว พร้อม ๆ กันครั้งเดียว ทุกครัวเรือนในเขตรัศมีวัดจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพโดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นบุตรหลานของใคร ผู้ใดมีช้างก็ให้นำมาร่วมขบวนแห่ ชาวกูยนิยมให้บุตรหลานบรรพชาอุปสมบทในวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรง ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพาน และเชื่อถือว่าหากได้นั่งช้างแห่นาคด้วยแล้วจะได้อานิสงส์มหาศาล โดยจะแห่นาคไปที่วังทะลุ และทำการบรรพชาอุปสมบท ณ จุดนั้น ซึ่งเป็นวังน้ำวนที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ทำให้เกิดดินดอน หรือเนินดินขึ้นตรงกลาง มีแม่น้ำล้อมรอบ ชาวบ้านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สิมน้ำ" และเนื่องจากเป็นบริเวณที่จัดอุปสมบทหมู่ จึงเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "ดอนบวช" ทั้งนี้ เป็นผลจากความเชื่อว่าผู้ใดได้บูชาด้วยการปฏิบัติตามผู้นั้นชื่อว่า ได้เห็นพระพุทธเจ้า ซึ่งตามพุทธประวัติ ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนอุปสมบท พระองค์ได้ทรงม้ากัณฑกะโดยมีนายฉันนะตามเสด็จไปสู่แม่น้ำอโนมา ทรงปลงผมและผนวช ณ ที่ริมแม่น้ำอโนมา

ในปัจจุบัน ชาวกูย จะตั้งขบวนช้างแห่ไปยัง วังทะลุ และควาญช้างจะนำช้างลงอาบน้ำให้ร่างกายสะอาด เพื่อเตรียมเข้าพิธีบวชช้าง ซึ่งจะทำก่อนบวชนาคที่วัด พิธีบวชช้างจะกระทำที่ศาลปะกำ สถานศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ โดยมีหมอเฒ่าหรือปะกำหลวงเป็นผู้ประกอบพิธีบวชให้ช้าง จากนั้นขบวนช้างและชาวกูยจะแห่นาคไปยังพัทธสีมา เพื่อบรรพชาอุปสมบทนาคให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาต่อไป