วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีตักบาตรดอกไม้




ประเพณีตักบาตรดอกไม้ อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
ตามพุทธตำนาน กล่าวว่า พระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งเมืองราชคฤห์ จะได้รับดอกมะลิสด จากนายมาลาการทุกวัน ซึ่งนายมาลาการก็จะได้รับบำเหน็จรางวัลตอบแทน มาวันหนึ่ง นายมาลาการออกไปเก็บดอกมะลิพบเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์กำลังเสด็จออกบิณฑบาต นายมาลาการเห็น "ฉัพพรรณรังสี" ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดความศรัทธา เข้าไปถวายดอกมะลิ ก็เกิดอภินิหาร ดอกมะลิลอยวนและลอยเป็นแพอยู่ที่หัตถ์ซ้าย ขวาและแผ่นหลังของพระองค์ โดยหันหัวเข้าหาพระวรกาย พระเจ้าพิมพิสารราชาทรงทราบว่า พระศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตมาถึงใกล้ๆ พระราชวัง จึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมแล้วเสด็จตามพระศาสดาไปด้วยความเลื่อมใส พระเจ้าพิมพิสารบำเหน็จรางวัลความดีความชอบให้กับนายมาลาการ นับแต่นั้นมา นายมาลาการก็อยู่อย่างร่มเย็นปราศจากทุกข์ ด้วยอานิสงส์ของการนำดอกมะลิหว่านบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทนการตักบาตร ชาวพุทธทั่วไปจึงถือเป็น ประเพณี "ตักบาตรดอกไม้" เป็นประจำทุกปี

ชาวอำเภอพระพุทธบาทมีประเพณีตักบาตรดอกไม้สืบสอนกันมาหลายชั่วอายุ โดยกระทำในวันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า ผู้คนพากันไปวัดเพื่อทำบุญตักบาตรด้วยข้าวสุกแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัดพระพุทธบาทราชวรวิหาร เมื่อเสร็จก็จะไปเก็บดอกไม้เพื่อเตรียมเอาไว้ตักบาตรในตอนบ่ายของวันเดียวกัน

ดอกไม้ก็จะเลือกใช้เฉพาะที่มีในเดือน 8 ข้างขึ้นเท่านั้น และซึ่งมีดอกไม้ป่าชนิดหนึ่งที่นิยมกันมาก มักขึ้นตามท้องที่ป่าเขาที่มีความชุ่มชื้นค่อนข้างสูง มีเฉพาะในป่าเขาเขตจังหวัดสระบุรีเท่านั้น ดอกไม้นี้พบมาก ตามไหล่เขาโพธิลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เขาช้าง หรือเขาเซียน เทือกเขาวง เขาผุ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลขุนโขลน ตำบลพุกร่าง อำเภอพระพุทธบาท และตำบลพุแค อำเภอเมืองสระบุรี ชาวบ้านเรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" มี 2 ประเภท คือสกุลกระเจียว ดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู และสกุลหงษ์เหิร ก้านเกสรยาว กลีบดอกบาง มีหลายสีเช่น สีเหลือง เหลืองทองอมส้ม สีขาว มีลักษณะคล้ายกับ ต้นกระชายหรือขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบ ลำต้นขึ้นเป็นกอจากหัวหรือเหง้าใต้ดิน ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อส่วนยอดของลำต้นมีหลายสี เช่น ขาว เหลือง เหลืองแซมม่วง และบางต้นก็มีสีน้ำเงินม่วง มีดอกรองรับในช่อดอกดูเป็นช่อใหญ่สวยงาม โดยเฉพาะชนิดดอกเหลืองจะมี กลีบรองสีม่วงสะดุดตามาก จึงเรียกกันอีกว่า ดอกยูงทอง หรือ ดอกหงส์ทอง
เมื่อเก็บดอกไม้มาแล้วก็นำมามัดรวมกับธูปเทียน เสร็จแล้วชาวบ้านมาตั้งแถวรออยู่ริมถนนทั้ง 2 ข้าง เริ่มตั้งแต่วงเวียนถนนสายคู่ไปจนถึงประตูพระมณฑปพระพุทธบาท เมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคล มีขบวนนำหน้าพระภิกษุสงฆ์ เป็นขบวนแห่กลองยาว พร้อมด้วยนางรำรำหน้ากลองยาวอย่างสนุกสนานครึกครื้น ต่อจากขบวนกลองยาวจะเป็นพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนรถแห่ตามมา จากนั้นเป็นขบวนพระสงฆ์เดินมาเพื่อบิณฑบาตดอกไม้ พระสงฆ์รับดอกไม้ไปเรื่อยๆ ไปจนถึงประตูพระมณฑปพระพุทธบาทแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีของฆราวาส ส่วนพิธีการด้านพระภิกษุสงฆ์ ในเวลาค่ำ เมื่อรับบิณฑบาตดอกไม้แล้ว ก็นำเอาไปในมณฑปพระพุทธบาท เอาดอกไม้เครื่องสักการะวันทา "รอยพระพุทธบาท" และนำดอกไม้มาวันทาพระเจดีย์ "จุฬามณี" อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากนั้นนำไปสักการะ พระเจดีย์พระมหาธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งชาวพุทธถือกันว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูกซี่โครง ของพระพุทธเจ้า) จากนั้นพระภิกษุสงฆ์และสามเณรทั้งหมดก็จะเดินตรงไปเข้าอุโบสถสวดอธิษฐานเข้าพรรษา เปล่งวาจา อยู่ในอาณาเขตที่จำกัดในระหว่างฤดูกาลเข้าพรรษา ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์และสามเณรจะเข้าอุโบสถ บริเวณบันได ประชาชนนำน้ำสะอาดล้างเท้าแด่พระภิกษุสงฆ์ด้วยความเชื่อว่าเป็นการชำระล้างบาปของตนที่ได้กระทำให้หมดสิ้นไป แล้วย้อนกลับขึ้นไปยังพระมณฑปอีกครั้ง เป็นการปฐมเทศนาขอปฏิบัติตามทางธรรมของพระพุทธองค์ทุกประการ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น